วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

 29-02-2012

 

การครอบครองปรปักษ์



การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ซึ่งได้บัญญัติว่า “บุคคล ใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” การที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องปรากฏว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่เจ้าของจะต้องมีกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะที่ดิน ที่ดินที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องเป็นที่ดินที่มีหลัก ฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ถ้าหากที่ดินนั้นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เช่น ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓, น.ส. ๓ ก., น.ส. ๓ ข.) แม้ผู้นั้นจะครอบครองที่ดินดังกล่าวนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบ ครองปรปักษ์ แต่อย่างใด นอกจากนั้น การครอบครองดังกล่าวจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผยไม่มีการปิดบังอำพรางหรือซ่อนเร้นและมีเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า หรือผู้อาศัยไม่ได้ครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของก็ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะ ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ และการครอบครองปรปักษ์จะนำไปใช้แก่ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งจะนำไปใช้กับที่ธรณีสงฆ์หรือที่วัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไม่ได้ด้วย
การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ถือว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยผลของ กฎหมาย ซึ่งตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ายังมิได้จดทะเบียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้และจะยกขึ้นเป็นข้อ ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ เมื่อผู้ใดได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเข้าตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ และได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงจำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามนัยมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนี้ แต่โดยที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๘ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนในกรณีนี้ไว้ว่า ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึง ที่สุดแสดงว่า ตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น ดังนั้น ก่อนที่ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์จะมาขอจด ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้นั้นจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าตนได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แล้วจึงนำคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดมาแสดงต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ เพื่อขอจดทะเบียนลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต่อไป
หลักฐานที่จะต้องนำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ได้แก่
  1. คำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุด ที่แสดงว่าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง
  2. บัตรประจำตัว สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดิน
กรณีไม่ได้โฉนดที่ดินมาจดทะเบียน กรณีผู้ขอไม่สามารถนำโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ได้ ตามข้อ ๑๗ (๓) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้ถือว่าโฉนดที่ดินสูญหาย ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วดำเนินการจดทะเบียนตามควรแก่ กรณี ในกรณีนี้โฉนดที่ดินเดิมเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครอง
  1. ค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท
  2. ค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินของทางราชการ ร้อยละ ๒
  3. ค่าอากรแสตมป์ ไม่เสีย
  4. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสีย ณ ที่จ่ายตอนจดทะเบียนได้มา ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.๑๐๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ข้อ ๑๐ (๗) แต่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากรของผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ
  5. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่เสีย เนื่องจากการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา ๙๑/๑ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมจึงไม่ใช่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๘๑๑/๐๐๐๘๑ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๒ ข้อ ๑ (๓)
ค่าใช้จ่ายกรณีจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองแล้วจะจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป ในขั้นตอนการจดทะเบียนขายต่อไปเสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
  1. ค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท
  2. ค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินของทางราชการ ร้อยละ ๒
  3. ค่าอากรแสตมป์ใบรับ ร้อยละ ๐.๕ (๕๐ สตางค์) จากราคาประเมินของทางราชการหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้ขอแสดง แล้วแต่ราคาใดสูงกว่า
  4. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย เสียตามปกติโดยนับจำนวนปีถือครองตั้งแต่ปีที่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริม ทรัพย์ (ปีที่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง มิใช่ปีที่จดทะเบียนได้มา โดยการครอบครอง) จนถึงปีที่จดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มานั้นต่อไป (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.๑๐๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ข้อ ๖
  5. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เสียหากอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสีย โดย “การนับระยะเวลาการได้มาในเรื่องของภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้มาจนถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ และ “วันที่ได้มา” ได้แก่วันที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ (หนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๘๑๑/๐๐๐๘๑ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๒) ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๘๒ แล้วจะขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป การนับระยะเวลาการได้มาเพื่อพิจารณาว่าอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจ เฉพาะหรือไม่ จึงต้องเริ่มนับจากวันจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครอง จนถึงวันจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง กรณีเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ใบรับข้างต้น

วิธีป้องกันการทุจริตหลอกลวงเกี่ยวกับที่ดิน

 29-02-2012

 

วิธีป้องกันการทุจริตหลอกลวงเกี่ยวกับที่ดิน




  1. เก็บรักษาโฉนด หรือหนังสือสำคัญของท่านไว้ในที่ปลอดภัยอย่าให้สูญหาย
  2. อย่าทำสัญญากู้ยืมเงินเอง โดยรับมอบโฉนดไว้เป็นประกันอาจเป็นโฉนดปลอม
  3. อย่าหลงเชื่อมอบโฉนดของท่านให้ผู้อื่นอาจถูกปลอมแปลงสับเปลี่ยนโฉนดได้
  4. อย่าเซ็นชื่อลงในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่กรอกข้อความเป็นอันขาด บุคคลผู้รับมอบอำนาจจะต้องเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้
  5. ก่อนซื้อ รับจำนอง หรือรับซื้อฝากที่ดินควรตรวจสอบโฉนดที่ดินหรือหนังสือสำคัญของท่าน ที่ตั้งและสภาพที่ดินให้แน่นอนก่อน
  6. อย่าหลงเชื่อนายหน้าให้มากนัก
  7. การซื้อที่ดิน ควรซื้อจากผู้ที่ไว้วางใจได้ เช่น มีใบอนุญาตทางราชการให้ทำการจัดสรร
  8. หมั่นตรวจสอบที่ดินของท่านทั้งทางทะเบียนและที่ดิน
  9. การตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียน ท่านสามารถสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ได้
  10. ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องมาจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน
  11. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือนายหน้ามาชักจูง ควรตรวจที่ตั้งที่ดิน เช่น อยู่ใกล้หรือไกลถนนและสภาพที่ดินเป็นอย่างไรก่อนซื้อ
ทำอย่างไรที่ดินของท่านจึงจะปลอดภัยจากผู้ทุจริต
  1. ไม่มอบโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
  2. อย่าลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความให้ครบถ้วน
  3. ควรไปติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินของท่านอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การมอบอำนาจเกี่ยวกับที่ดิน

 29-02-2012

 

การมอบอำนาจ



การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนและการกระทำนั้นมีผลทาง กฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง
การมอบอำนาจให้ทำกิจการใด ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจให้ทำกิจการนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น การซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการมอบอำนาจให้ขาย ที่ดินก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีสาระสำคัญครบถ้วน แต่เพื่อ ความสะดวก ควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินโดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็น หนังสือให้ผู้ไปทำการแทน และควรมอบบัตรประจำตัวของผู้มอบให้กับผู้รับมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าของที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจะต้องระมัดระวัง หรือกระทำ การให้รัดกุม รอบคอบอาจเกิดการฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ จึงขอให้ผู้มอบได้ปฏิบัติตามคำเตือนหลังใบมอบอำนาจโดยเคร่งครัด
  1. ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรือ อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก,บ้านเรือน,ให้ชัดเจน
  2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่า มอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อขาย จำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษ
    เพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย
  3. อย่ากรอกข้อความให้ต่างลายมือและใช้น้ำหมึกต่างสีกันถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน
  4. ถ้ามีการขูดลบ ตกเติม แก้ไข ขีดฆ่า ให้ระบุว่า ขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย
    ทุกแห่ง
  5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ ก่อนกรอกข้อความครบถ้วน และถูกต้องตามความประสงค์แล้วหรืออย่าลงชื่อใน
    กระดาษเปล่าซึ่งยังมิได้กรอกข้อความเป็นอันขาด
  6. ให้มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน 2 คน พยานต้องเซ็นชื่อจะพิมพ์ลายนิ้วมือ
    ไม่ได้ ถ้าภรรยาเป็นผู้รับมอบอำนาจต้องให้สามีลงชื่อเป็นพยานและให้บันทึกความยินยอมเป็นหนังสือด้วย
  7. หนังสือมอบอำนาจทำในต่างประเทศควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุลหรือโนตารีปัปลิค [Notary Public] รับรองด้วย
  8. ผู้มอบอำนาจที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้มอบจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ และสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสอบสวนคู่กรณีหรือเรียกบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือเรียกให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
บางเรื่องผู้มอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ทั้งสองฝ่ายคือเป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ในกรณีเช่นนี้ผู้มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่า ยินยอมให้ผู้รับมอบเป็นผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา 805 แห่ง ป.พ.พ.) ในส่วนผู้รับซื้อหรือผู้รับสิทธิในนิติกรรมมีหน้าที่ระมัดระวังด้วยโดยจะ ต้องรู้จักตัวเจ้าของที่ดินที่แท้จริง เพราะจะซื้อที่ดินทั้งที่เงินก็มาก ต้องรู้จักเจ้าของที่ดินว่ามีตัวตนหรือไม่มีชีวิตอยู่หรือไม่ มีเจตนาจะขาย ที่ดินจริงหรือไม่หากไม่รู้จักเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเสียเลยย่อมเป็นการ ผิดวิสัย ถ้าไม่แน่ใจก็อาจขอตรวจดูหลักฐานที่ดินที่สำนักงานที่ดินก่อนได้ จึงขอให้ผู้รับโอนได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง
ปัจจุบัน กรมที่ดินได้ออกมาตรการเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตและคุ้มครองสิทธิของ ประชาชนในการมอบอำนาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ณ สำนักงานที่ดิน โดยได้ออกระเบียบให้มีการถ่ายรูปผู้รับมอบอำนาจไว้เป็นหลักฐาน และจัดเก็บเป็นข้อมูล หาก มีการทุจริตเกิดขึ้นและจำเป็นต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินคดีกับผู้รับ มอบอำนาจที่ทุจริต เช่น ปลอมลายมือชื่อเจ้าของที่ดิน หรือปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการในสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาตั้งแต่วัน ที่ 26 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน โทร. 0 2141-5765 และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร 0 2225 5758, 0 2224 0187 (ประกาศกรมที่ดิน เรื่อง กรมที่ดินออกมาตรการป้องกันทุจริต กรณีมอบอำนาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม, พฤษภาคม 2554)

เอกสารที่ต้องนำไปกรมที่ดิน !!

 29-02-2012

 

หลักฐานการขอจดทะเบียน



บุคคลธรรมดา
  1. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  2. บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  3. ทะเบียนบ้าน
  4. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
  5. ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า
  6. มรณะบัตรคู่สมรส
  7. หนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของคู่สมรส
  8. ถ้ามีการแปลงสัญชาติ ให้นำหลักฐานการแปลงสัญชาติมาแสดง
ห้างหุ้นส่วนบริษัท
  1. โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  3. ข้อบังคับของนิติบุคคล
  4. หนังสือบริคณห์สนธิ และวัตถุประสงค์
  5. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด
  6. แบบรับรองรายการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว
  7. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ผู้ขอ
  8. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และตัวอย่าง ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคล
  9. รายงานการประชุมนิติบุคคล
วัด
  1. หลักฐานหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดของกรมการศาสนา
  2. หลักฐานประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องตั้งวัดในพระพุทธศาสนาหรือสำนักสงฆ์
  3. หลักฐานการแต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทน
  4. หลักฐานการเลื่อนสมณศักดิ์เจ้าอาวาส (ถ้ามีการเลื่อนสมณศักดิ์)
  5. หลักฐานการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  6. ต้องแสดงบัญชีจำนวนที่ดินของวัดที่มีอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด พร้อมทั้งนำ หนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ที่มีอยู่แล้วทุกแปลง ไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
  7. ต้องแสดงจำนวนพระภิกษุสามเณร
มูลนิธิเกี่ยวกับคริสต์จักร
  1. หนังสืออนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิ
  2. บัญชีมูลนิธิ (แบบ ม.น.2) ซึ่งระบุรายชื่อกรรมการด้านหลัง ตั้งแต่ฉบับแรก ฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย
  3. ข้อบังคับ หรือตราสารการก่อตั้งมูลนิธิ
  4. รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิซึ่งลงมติเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่จะ ขอได้มา หรือลงมติเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือลงมติเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่และเจตนาของผู้ โอนใน การขอได้มาซึ่งที่ดินในกรณีรัฐมนตรีฯ อนุญาตให้มูลนิธิฯ ได้มาซึ่งที่ดินแล้ว
  5. หนังสือมอบอำนาจของมูลนิธิ (ถ้ามี)
  6. ต้องแสดงบัญชีจำนวนที่ดินของมูลนิธิฯ ที่มีอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด พร้อมทั้งนำหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินที่มีอยู่แล้วทุกแปลง ไปแสดงต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ด้วย
  7. ใบอนุญาตให้จัดตั้งสุสาน (กรณีขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นสุสาน)
มัสยิดอิสลาม
  1. ทะเบียนมัสยิด (แบบ ม.อ.2)
  2. ประกาศฯ แต่งตั้งอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น
  3. ประกาศฯ แต่งตั้งกรรมการมัสยิด
  4. รายงานการประชุมกรรมการมัสยิด และมอบหมายให้ผู้ใดเป็นผู้ทำการแทน ซึ่งลงมติเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่จะขอได้มาหรือลงมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เจตนาในการขอได้มาซึ่งที่ดินระหว่างเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีฯ
  5. หนังสือมอบอำนาจของคณะกรรมการมัสยิด (ถ้ามี)
  6. ต้องแสดงบัญชีจำนวนที่ดินของมัสยิดฯ ที่มีอยู่ก่อนแล้วทั้งหมด พร้อมทั้งนำหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินที่มีอยู่แล้วทุกแปลง ไปแสดงต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ด้วย
  7. ใบอนุญาตให้จัดตั้งสุสาน (กรณีขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นสุสาน)

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน

 28-02-2012

 

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน



  1. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเช่นได้มาโดยได้โฉนดแผนที่โฉนด ตราจอง, หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว, ได้มาซึ่งที่บ้านที่สวน
    ตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ที่ดินประเภทนี้เป็นที่มีกรรมสิทธิแต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิและไม่ ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า ฎีกาที่ 1570/2500 ที่พิพาทซึ่งเจ้าของ
    ได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์บรรพ4 และพระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) 2479 แล้วแม้ที่ดินพิพาทจะเป็น
    ที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ด เสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดี โดยถืออายุความสละที่ดิน 9ปี 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี ไม่
  2. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินตั้งตำบลและได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 และ 59)
  3. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้จำนอง, ขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
  4. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยผลของกฎหมาย เช่น
      4.1  ได้กรรมสิทธิในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกันแต่เจ้าของที่ดินมีจะมีกรรมสิทธิในที่งอก ได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิเช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่าเกิดที่งอกออกมาเจ้าของที่แปลงนั้นก็ มีแต่สิทธิครอบครองที่งอกเท่านั้นดังนั้นหากเป็นงอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดิน แปลงดังกล่าวมีกรรมสิทธิในที่งอกผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ต้อง ครองครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีจึงได้กรรมสิทธิ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (สค.1 ,นส.3) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองหากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้อง ร้องเรียกคืนภายใน1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น

      4.2  ได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ”ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ(โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ด เสร็จ(บทที่42) ที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1,น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ก.ครอบครองที่ดินมือเปล่าอย่างเจ้าของมา 10 ปี ก.ก็คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การได้กรรมสิทธิโดยครอบครองปรปักษ์จะต้องให้ศาลสั่งว่า ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ประเภทได้มาโดยการครอบครอง หากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วนก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบ ครองเฉพาะส่วนหรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง

      4.3  การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยทางมรดกการจะมีกรรมสิทธิในที่ดิน มรดกที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิเช่น โฉนดที่ดินถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่าเช่นที่ นส.3, สค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง ได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อนจึงจะ มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้เช่น นาย ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดให้นาย ข. เมื่อนาย ก. ตาย นาย ข.ก็ได้รับมรดกทันทีโดยผลของกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนเนื่องจากพินัยกรรม มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือหากไม่มีพินัยกรมเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตายมรดกก็ตกไปยังทายาทโดย ธรรมทันทีแต่ต่อมาหากนาย ข.ต้องการขายที่ดินมรดกให้นาย ค. นาย ข.จะทำไม่ได้เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนายก. เจ้าของเดิมอยู่ นาย ข.จะต้องจดทะเบียน การได้มาประเภทมรดก ลงชื่อนาย ข.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิเสียก่อน จึงจะเอาที่ดินไปจดทะเบียนขายให้นาย ค. ต่อไปได้เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า“ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมสิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ท่านว่าจะมีการ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้”การได้มาทางมรดก ก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นกัน

การเสียสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

 28-02-2012

 

การเสียสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน



ผู้มีสิทธิในที่ดินอาจเสียสิทธิในที่ดินได้ โดยที่ดินนั้นจะตกเป็นของรัฐในกรณีที่มีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อย ให้พื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าเกินเวลาดังนี้
          1. สำหรับที่ดินมีโฉนดที่ดินเกิน 10 ปี ติดต่อกัน

          2. สำหรับที่ดินที่มี น.ส.3 เกิน 5 ปี ติดต่อกัน
การทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หมายความว่า เจ้าของที่ดินไม่ประสงค์จะถือสิทธิในที่ดินนั้นอีกต่อไป ส่วนการปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หมายความว่า เจ้าของที่ดินยังมีความประสงค์จะถือสิทธิในที่ดินนั้นอยู่ต่อไป แต่เจ้าของที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
การทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่ รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น กฎหมายโดยถือว่าผู้นั้นเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ได้ทอดทิ้ง ไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า โดยอธิบดีกรมที่ดินจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหนังสือ แสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ที่ดินนั้นก็จะ ตกเป็นของรัฐ เพื่อที่รัฐจะนำที่ดินนั้นมาดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินนี้ต่อไป เช่น นำมาจัดให้ประชาชนตามมาตรา 27 หรือเปิดให้ประชาชนเข้าจับจอง หรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้

28-02-2012

 

ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้



1. ที่ดินที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส. 3ก., น.ส. 3ข.)ได้ จะต้องเป็นที่ดินที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ข้อ 14 กล่าวคือ

    - จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว
    - ไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบที่ชายตลิ่ง ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์
    - ไม่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวง ห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินพุทธศักราช 2478
    - ไม่เป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนและพัฒนาที่ดินเพื่อจัดให้แก่ประชาชน
    - ไม่เป็นที่ดินของรัฐที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
    - ไม่เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

2. ที่ดินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้จะต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนี้

    -ที่ เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศหวงห้ามตาม มาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน
    -ที่เกาะ จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) ใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, น.ค. 3, ก.ส.น. 5 หรือเป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดิน แห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือเป็นที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และ 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดย คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว
    -เขต ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) หรือได้ออกใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, ตราจอง ไว้ก่อนการสงวนหรือ หวงห้ามที่ดิน
    -ที่ดินที่ อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1), ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือมีใบจอง, ใบเหยียบย่ำ หรือมีหลักฐาน น.ค. 3, ก.ส.น. 5 ก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
    -พื้นที่ที่มีความลาดชัน โดยเฉลี่ยร้อยละ 35 ขึ้นไป ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองมาก่อน การบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (ก่อน 1 ธันวาคม 2497) หรือมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)